คือ นค.3 เป็นของคุณย่า และคุณย่าเสียแล้ว มีลูกเพียงคนเดียวคือคุณพ่อค่ะ ทีนี้ใบ นค.3 หาย ช่วงที่กรมที่ดินมาสำรวจออกโฉนดครั้งแรก คุณพ่อติดคุกอยู่ แม่และลูก ๆ ก็ไม่ทราบเรื่อง (เพราะไปทำงานหาเงินที่อื่น) ทีนี้พอมีสำรวจออกโฉนดครั้งที่ 2 พ่อกับแม่เป็นอัมพฤกษ์ ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่ได้มาแจ้งอะไรหนังสืออะไรก็ไม่ได้รับ จึงไม่ทราบเรื่องอีกขอสอบถามดังนี้ค่ะ
เราขอออกใบ นค.3 แทนฉบับเก่าที่สูญหายได้ที่ไหนค่ะ เพื่อจะเอามาขอออกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามสิทธิ์
ได้ไปถามกรมที่ดินฯ เค้าก็บอกว่าถ้าจะออกโฉนดให้รอจนกว่าจะมีการสำรวจทีดินอีกครั้ง แต่ จนท.ก็บอกว่าไม่รู้จะสำรวจอีกเมื่อไร อาจจะเป็นปลายปี หรือไม่ก็ปีหน้า แบบนี้ดิฉันร้องขอออกโฉนดทีดินเองได้หรือไม่ค่ะ
เห็นคนในนิคมฯ เค้าบอกว่าหากไม่รีบทำการออกโฉนดที่ดิน รัฐจะยึดที่คืนเพราะถือครองเป็น นค.3 นานเกิน 20 ปี ไม่ยอมไปออกโฉนด จริงหรือไม่ค่ะ ขอขอบคุณทุกความเห็นค่ะ
กรณีนี้ผู้ถามเป็นหลานของคุณย่าซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และได้ นค. ๓ ไปแล้ว
แต่คุณย่าเสียชีวิตก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ในมาตรา ๓๐ กำหนดว่า ถ้าสมาชิกนิคมสร้างตนเองตายก่อนได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้น ให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทายาทโดยธรรมและมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๒ เข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทน กรณีนี้ ทายาทโดยธรรมที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองแทนย่อมสวมสิทธิที่จะขอออก นค. ๓ ใหม่ในนามของตนเองได้ โดยไม่ต้องนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินอีก สำหรับผู้ถามซึ่งเป็นหลานของคุณย่าหากมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น บรรลุนิติภาวะ มีสัญชาติไทย ฯลฯ สามารถยื่นสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองได้ คณะกรรมการอาจคัดเลือกให้เป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและออก นค. ๓ ในที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีข้อขัดแย้งโดยทายาทอื่น ตัวอย่าง เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้องของผู้ถามสละสิทธิไม่ขอรับจัดที่ดิน ในการนี้ สามารถนำ นค. ๓ ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา ๑๑ ได้ทันที
?ในการนี้ แนะนำว่าควรเร่งติดต่อนิคมสร้างตนเองที่ที่ดินตั้งอยู่ หรือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อดำเนินการให้ได้รับ นค. ๓ นำไปออกโฉนดที่ดินโดยเร็ว ทั้งนี้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวยังมีข้อจำกัดห้ามโอนกรรมสิทธิ์ภายใน ๕ ปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินตามมาตรา ๑๒