สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์ออมทรัพ ฯทุจริต ยักยอกเงิน? สงเคราะห์ศพของทายาทผู้เสียชีวิต จะมีวิธีดำเนินการอย่างไร (หลายล้านบาท)
การดำเนินการของนายทะเบียนสามคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ (นายทะเบียนสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายกเทศมนตรีในท้องที่ทที่สมาคมฯนั้นตั้งอยู่)
- ในกรณีที่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาคมฯ ไม่ร้องทุกข์หรือฟ้องคดีให้นายทะเบียนร้องทุกข์หรือฟ้องคดีได้(ตาม พ.ร.บ.ฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ มาตรา ๔๓)
- ในกรณีที่คณะกรรมการหรือกรรมการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสมาคมฯให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะหรือให้กรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้นพ้นจากตำแหน่งกรรมการ(พ.ร.บ.ฌาปนกิจสงเคราะห์ มาตรา ๔๔ อนุมาตรา ๔)
- นายทะเบียนมีอำนาจสั่งให้เลิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ ในกรณีที่พบว่ามีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการดำเนินกิจการของสมาคมฯนั้น ไม่เป็นไปโดยสุจริตและนายทะเบียนได้สอบสวนพฤติการณ์ดังกล่าวแล้วมีเหตุผลเป็นที่เชื่อได้ (พ.ร.บ.ฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ มาตรา ๕๒ อนุมาตรา ๓)หรือหากนายทะเบียนพบว่ามีพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าการดำเนินกิจการของสมาคมฯไม่อาจดำเนินต่อไปได้ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆก็สามารถสั่งเลิกสมาคมฯได้ (มาตรา ๕๒ อนุมาตรา ๔)
- เมื่อนายทะเบียนสั่งให้คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการทั้งคณะ ให้นายทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการชั่วคราวคณะหนึ่งมีอำนาจหน้าที่และสิทธิเช่นเดียวกับคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการชั่วคราวจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ทั้งคณะให้เสร็จสิ้นภายใน ๔๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง (พ.ร.บ.ฌาปนกิจสงเคราะห์ฯ มาตรา ๔๕)
หากมีการดำเนินการในลักษณะที่จะถือเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์(ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒)นั้นจะต้องมีเงื่อนไขว่า 'ผู้กระทำการต้องมีเจตนาทุจริตด้วยการเบียดบังเอาทรัพย์ที่ตนเองครอบครองอยู่ ซึ่งเป็นทรัพย์ของผุ้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตน' จึงจะถือเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ทั้งนี้ ผู้เสียหายต้องดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖)